เมื่อเราได้ทราบถึงความสำคัญของการถ่ายทอดเสียงไปแล้ว เราก็จะต้องมารู้จักประเภทของการถ่ายทอดเสียงด้วย เพราะการถ่ายทอดเสียงแบบต่างๆนั้นเหมาะสำหรับการนำไปใช้งานที่แตกต่างกัน รวมถึงการบันทึกรายละเอียดของเสียงก็ต่างกันด้วย เพื่อการนำไปใช้งานได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ เราไปรู้จักการถ่ายทอดเสียงแต่ละแบบกันเลยค่ะ
การจำแนกสัญลักษณ์ทางสัทศาสตร์
Henry Sweet ซึ่งได้รับการขนานนามให้เป็นบิดาของวิชาสัทศาสตร์ ได้แบ่งสัญลักษณ์แทนเสียงออกเป็น 3 ชนิดคือ
1. Arbitary Alphabet คือตัวอักษรซึ่งไม่มีความสัมพันธ์ที่แน่นอนระหว่างเสียงกับรูปตัวเขียน เป็นการใช้อักษรแทนเสียงอย่างไม่มีเหตุผล เช่น การใช้อักษรโรมัน อักษรไทย เป็นต้น
ตัวอย่างเช่น ภาษาไทยใช้ ม. แทน [m] โดยที่เราอธิบายไม่ได้ว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น หรือโรมันใช้ j แทน [ʤ] โดยที่อธิบายไม่ได้
2. Symbolic Alphabet คือตัวอักษรมีความสัมพันธ์อันแน่นอน (definite relation) ระหว่างเสียงกับรูปสัญลักษณ์ โดยที่ความสัมพันธ์อันนี้อาจจะแสดงความสัมพันธ์ของสรีรวิทยาในการออกเสียงหรือในแง่ Physics ของเสียง (Acoustic Feature)
3. Analphabetic คือการใช้สัญลักษณ์ในรูปของกลุ่มสัญลักษณ์สาหรับเสียงหนึ่งเสียง มีลักษณะคล้ายคลึงกับสูตรทางเคมี (H2O, H2CO3) ซึ่งอาจจะประกอบด้วยตัวเลข, ตัวอักษรโรมัน ตัวอักษรอื่นๆ หรือหลายๆ แบบมารวมกันเพื่อที่จะแสดงค่าหรือลักษณะเสียงใดเสียงหนึ่ง
ตามแนวความคิดของ David Abercrombie เขาได้แบ่งสัญลักษณ์ที่ใช้เขียนแทนเสียงพูดออกเป็น 2 ชนิดคือ
1. Analphabetic Notation เป็น notation ที่ไม่เป็น Alphabet คือการใช้สัญลักษณ์ร่วมกันหลายๆ ตัว เพื่อแทนเสียงหนึ่งเสียงซึ่งมีลักษณะคล้ายสูตรทางเคมี (ซึ่งเป็นสูตรที่แสดงถึงส่วนประกอบของสารนั้นๆ) ในทำนองเดียวกัน Analphabetic Notation ก็บอกถึงองค์ประกอบต่างๆ ของเสียงนั้น เช่น ¹⁄₁ ตามระบบ Analphabetic Notation ของ Abercrombie หมายถึง voiceless bilabial plosive [p] กล่าวคือ ตัวเลขบน ในที่นี้คือ เลขหนึ่งใช้แสดง passive articulator หรือ upper articulator หรือ point of articulation เลขตัวล่าง ในที่นี้คือเลขหนึ่ง หมายถึง active articulator หรือ lower articulator สำหรับแบบนี้จะใช้เลขลำดับตั้งแต่ 1 ถึง 7 ทั้งบนและล่าง ทั้งนี้เลขน้อยหมายถึงฐานกรณ์ที่ใกล้ริมฝีปากมากที่สุดและเลขที่มากขึ้นหมายถึงฐานกรณ์ที่อยู่ถัดไปในช่องปากเป็นลำดับ เส้นตรงตรงกลางแสดงการติดกันของฐานกรณ์ที่ปิดสนิท ผู้ที่คิดระบบนี้เป็นคนแรกคือ Thomas Wright Hill (1763-1851) เขาได้อธิบาย Notation ของเขาในหนังสือชื่อ On the Articulation of Speech สัญลักษณ์ระบบนี้แม้จะกระทัดรัดแต่ไม่สะดวกต่อการพิมพ์เพราะว่าสัญลักษณ์จัดเรียงกันในแนวดิ่ง
ต่อมามีนักสัทศาสตร์ชื่อ Otto Jesperson (1860-1943) ได้อธิบายไว้ในหนังสือชื่อ “The Articulations of Speech Sounds” เขาได้ดัดแปลงระบบสัญลักษณ์ของ Hill โดยการเรียบเรียงรูปสัญลักษณ์เสียใหม่ จากแนวตั้งเป็นแนวนอน และเป็นคนแรกที่ใช้ชื่อสัญลักษณ์นี้ว่า Analphabetic สัญลักษณ์แบบนี้สามารถให้รายละเอียดเกี่ยวกับลักษณะทั่วไปของเสียงได้เกือบทั้งหมด แต่อย่างไรก็ตามยังเป็นปัญหาต่อการพิมพ์อยู่ดีเพราะว่าแบบของ Otto นี้ใช้สัญลักษณ์หลายรูปแบบทั้งอักษรกรีก, โรมัน, ตัวพิมพ์เล็ก, ตัวพิมพ์ใหญ่, ตัวเอียงและตัวเลขทั้งยังมีการห้อยสัญลักษณ์ไว้ข้างใต้และยกสัญลักษณ์ขึ้นไปเหนือแนวบรรทัด เช่น
ɑ₇bβςɤ₇kδοε₁=all
แต่แบบที่สมบูรณ์ที่สุดคือ ระบบของ Pike เขาได้นำหลักการ Analphabetic มาใช้อธิบายเสียงพูดได้ดีที่สุดโดยให้รายละเอียดต่างๆ ของ Analphabetic Notation ไว้ในหนังสือ Phonetics ของ K.L. Pike (1943) ซึ่งได้อธิบายไว้อย่างละเอียดและเข้าใจง่ายแต่จุดประสงค์ของ Pike นั้นมิได้ใช้สำหรับนำไปอ้างอิงจริงๆ เพียงแต่เขาต้องการบอกให้คนทั่วไปได้รู้ว่า หากจะพูดหรืออธิบายถึงเสียงใดเสียงหนึ่งของมนุษย์นั้น เราสามารถอธิบายได้ละเอียดแค่ไหนอย่างไร คือ เขาต้องการจะบอกให้ทราบว่า เสียงใดที่เกิดขึ้นเราสามารถอธิบายได้ครบถ้วนทุกลักษณะโดยระบบสัญลักษณ์แบบนี้2. Alphabetic Notation คือ การใช้สัญลักษณ์ 1 ตัว แทนเสียงหนึ่งเสียง แบบนี้ เป็นระบบที่นิยมกันมากที่สุด ส่วนใหญ่มีอักษรโรมัน คือใช้อักษรโรมันเป็นแกน แต่ก็มี Alphabetic Notation อีกจำนวนมากที่มิได้ใช้อักษรโรมัน เขาได้แจกแจง Alphabetic Notation เป็น 2 ชนิดย่อยๆ คือ
2.1 Non- Roman Notation ซึ่งมีค่าตรงกับ Symbolic Alphabet ของ Henry Sweet เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงความสัมพันธ์อันแน่นอนระหว่างเสียงกับรูปสัญลักษณ์ Notation แบบนี้มีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งคือ Iconic Notation มีหลายแบบ บางแบบก็ใช้รูปสัญลักษณ์แสดงการทำงานของ articulators แบบที่นิยมมากที่สุด คือ แบบที่แสดงการทำงานของ articulators หรืออวัยวะที่ใช้ในการออกเสียง ระบบสัญลักษณ์นี้คิดขึ้นครั้งแรกโดยพนักงานธนาคารในอังกฤษ 2 คนชื่อ William Holdsworth และ William Aldridge แต่ว่างานของเขาทั้งสองไม่ได้รับความนิยมหรือเป็นที่แพร่หลายเท่าใดนักในเรื่องของตัวชวเลข แต่อย่างไรก็ตามหลักการของการใช้ระบบ Iconic ซึ่งคิดโดยบุคคลทั้งสองได้รับความสำเร็จอย่างมาก โดยผู้ที่นำมาประยุกต์ ให้เป็นระบบชวเลขที่ดีคือ Isaac Pittman ซึ่งได้อุทิศเวลาทั้งหมดในชีวิตของเขาทดลองศึกษาค้นคว้า Phonetic Notation แบบต่างๆ Pittman พิมพ์หนังสือชื่อ “Stenographic Soundhand” ในปี 1837 ถึงแม้ว่าระบบชวเลขในปัจจุบันนี้จะก้าวหน้าไปไกลหรือเบี่ยงเบนไปจากระบบที่ Pittman คิดขึ้นมาก แต่อย่างไรก็ตาม เราก็ยังคงใช้แนวของ Pittman เป็นเกณฑ์อยู่ดี
ลักษณะของ Aphabetic Notation แบบของ Pittman นี้เป็นแบบซึ่งใช้การเปรียบเทียบเป็นหลัก ต่อมาก็มีชาวอังกฤษชื่อ Alexander Melville Bell ได้คิดระบบ Notation ขึ้นอีกระบบหนึ่งในปี 1867 และเผยแพร่ออกไปในหนังสือชื่อ ‘Visible Speech: the Science of Universal Alphabetics; or Self-Interpreting Physiological Leters, for the Writing of all Language in One Alphabet’ ซึ่งเป็นแบบที่มีชื่อเสียงมากเขาได้พยายามเสนอเรื่องนี้แก่รัฐบาลก่อนที่จะมีการพิมพ์งานของเขาแต่รัฐบาลก็ไม่สนใจ เขาจึงอพยพไปคานาดาแล้วโอนสัญชาติเป็นชาวอเมริกันและได้ใช้ระบบสัญลักษณ์ของเขาอย่างกว้างขวาง โดยเขาและลูกชายชื่อ Alexander Graham Bell (ผู้ซึ่งประดิษฐ์โทรศัพท์) ได้ใช้ระบบนี้ในการสอนคนหูหนวกให้พูด สัญลักษณ์ของ Bell แบบนี้ใกล้เคียงกับระบบของ Henry Sweet ที่เรียกว่า Organic Alphabet
2.2 Roman-based Notation เป็น Alphabetic Notation ซึ่งเป็นระบบสัญลักษณ์ที่ใช้ตัวอักษรโรมันเป็นหลักไม่มีความสัมพันธ์ระหว่างเสียงและรูปอักษร ส่วนมากเป็นอักษรโรมันหนึ่งตัวแทนเสียง 1 เสียง ซึ่งเหมือนกับที่เห็นในปัจจุบัน ทั้งนี้โดยนำเอาอักษรโรมันที่ใช้ในชีวิตประจำวันมาใช้ แต่ก็ยังไม่พอกับเสียงที่เกิดในภาษาพูดดังนั้นต้องเสริมหรือเพิ่มเติมตัวอักษรให้พอกับเสียงต่างๆ โดยวิธีการดังต่อไปนี้
1. นำตัวอักษรโรมันบางตัว ซึ่งคนไม่ค่อยใช้เพิ่มเข้าไป เช่น ð, ç, ʒ
2. เพิ่มเครื่องหมายเล็กๆ (diacritics) ลงบน, เหนือ, ใต้, ข้าง, ตัวอักษร หรืออาจเป็นการคาดทับก็ได้เพื่อระบุลักษณะเฉพาะหรือแสดงคุณภาพของเสียงนั้นๆ เช่น pʰ, ţ, ɫ, a:
3. โดยการยืมสัญลักษณ์จากอักษรในภาษาอื่น โดยเฉพาะในภาษากรีก ทั้งนี้โดยมีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างไปเล็กน้อย เพื่อให้มีความคล้ายคลึงกับอักษรโรมันมากขึ้น เช่น β, ɤ, ɛ, ɵ, ɸ, χ
4.โดยการคิดสัญลักษณ์ใหม่ จากการกลับหัวอักษรเดิมที่มีอยู่ ə, ɔ, ɹ, ʌ, ʎ, ɥ
5. คิดสัญลักษณ์รูปร่างใหม่ โดยอิงกับอักษรเดิมที่มีอยู่ เช่น ɬ, ɮ
6. เพิ่มเติมบางส่วน ของตัวอักษรเดิมที่มีอยู่ เช่น ɓ, ħ, ɱ, ʂ, ŋ
7. ใช้อักษร 2 ตัวมาเรียงกัน เพื่อแทนเสียง 1 เสียง เรียกว่า digraphs การใช้ digraphs นี้ไม่เป็นที่นิยมมากนัก เนื่องจากผู้อ่านมักจะเข้าใจผิดว่าแทนเสียง 2 เสียง แต่อย่างไรก็ตาม digraphs ก็มีข้อดีคือไม่ต้องคิดรูปใหม่ขึ้นใช้ digraphs จะมีประโยชน์ก็ต่อเมื่อผู้อ่านตีความว่ามีค่าเท่ากับเสียงเสียงเดียว
สัญลักษณ์ตัวห้อย ใน English Dictionary หมายถึงอะไรคะ
ตอบลบ